
เคยเรียนมาตั้งแต่เด็กว่าฟันแท้มี 32 ซี่ แต่ทำไมอยู่ดีๆ มีฟันคุดขึ้นมาปะปนซะอย่างนั้น เคยลองนับกันหรือเปล่าคะว่าจริงๆ แล้วในปากของเรามีฟันทั้งหมดอยู่กี่ซี่… ส่วนใหญ่แล้วฟันจะขึ้นมาไม่ครบ 32 ซี่ เพราะซี่สุดท้ายมักจะไม่ขึ้นหรือขึ้นมาเอียง เฉียง ติดกับฟันข้างเคียง ฝังอยู่ในขากรรไกร จึงเรียกว่า “ฟันคุด” ปกติแล้วทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนหรือผ่าฟันคุดออก เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะมีแต่ผลเสียตามมา และจากการบอกเล่าต่อๆ กันมาถึงความเจ็บปวดทรมานจากการผ่าฟันคุด ทำเอาหลายคนเข็ดขยาดกับการทำฟัน และกลัวว่าตัวเองจะเป็นฟันคุดกับคนอื่นเขาบ้าง การผ่าฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ แต่ถ้าไม่เอาออกนี่สิ.. อาจจะต้องทำฟันอีกหลายครั้งเลยล่ะ
ฟันคุด (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ อาจขึ้นได้เพียงบางส่วนหรือไม่ขึ้นมาเลย เพราะเป็นฟันที่ขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ ทำให้ไม่มีที่ว่างขึ้นได้ พบได้บ่อยที่สุดบริเวณฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Third Molar) หรือซี่สุดท้าย จนคิดกันว่าฟันคุดจะขึ้นเฉพาะบริเวณนี้ แต่ฟันคุดสามารถเกิดกับฟันซี่อื่นได้เหมือนกัน เช่น ฟันเขี้ยว (Canine) ฟันกรามน้อย (Premolar) เป็นต้น โดยปกติแล้วฟันกรามซี่สุดท้ายควรขึ้นเมื่ออายุ 16-22 ปี แต่เมื่อถึงช่วงอายุดังกล่าวแล้วแต่ฟันยังไม่ขึ้น ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติเพื่อทำการรักษาก่อนที่อาการปวดจะเกิดขึ้น
เราสามารถแบ่งชนิดของฟันคุดได้ง่ายๆ โดยดูจากลักษณะการขึ้นของฟันคุดและความสัมพันธ์กับฟันข้างเคียง โดยฟันคุดมักขึ้นในลักษณะแนวนอน (Horizontal impaction) ชนกับฟันซี่ที่อยู่ติดกัน, ขึ้นในลักษณะแนวเอียง ชนปลายรากฟันซี่ที่ติดกันหันส่วนครอบฟัน (Crown) ออก (Distoangular impaction หรือ distal impaction) หรือหันเข้าหาฟันข้างเคียง (Mesioangular impaction หรือ Mesial impaction) ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด และสุดท้ายคือฟันคุดที่ขึ้นในลักษณะแนวตั้ง (Vertical impaction) ชนกลางรากฟันซี่ที่ติดกัน
เมื่อทันตแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีฟันคุด วิธีการที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดฟันคุดออกตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีอาการปวด และการผ่าตัดก็สามารถทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการปวดหรือบวมไปแล้ว เพราะถ้าไม่ผ่าตัดออกจะทำให้เกิดผลเสียดังต่อไปนี้
1. เหงือกอักเสบ เป็นที่หมักหมมของเศษอาหาร ทำให้มีกลิ่นเหม็นและบวม
2. ปริทันต์อักเสบ ทำให้ฟันข้างเคียงผุได้ง่าย เพราะยากต่อการทำความสะอาด
3. มีการละลายของรากฟันซี่ข้างเคียง เนื่องจากแรงดันของฟันคุด
4. ปวดฟัน ปวดกระดูกขากรรไกร เนื่องจากเกิดการติดเชื้อ หรือมีแรงดันต่อโพรงประสาทฟันบริเวณปลายรากฟัน บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ
5. แรงดันของฟันคุดทำให้เกิดการบิดเกของฟันข้างเคียง ฟันซี่หน้า และซี่ถัดไป
6. ขากรรไกรบริเวณฟันคุดหักง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับแรงกระแทก
7. ฟันคุดที่ฝังอยู่ในขากรรไกร จะมีเยื่อหุ้ม ซึ่งอาจทำให้พัฒนาไปเป็นถุงน้ำ (Cyst) และโตขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเกิดมะเร็งกรามช้างตามมาได้
เห็นมั้ยคะว่าการปล่อยฟันคุดทิ้งไว้โดยไม่ผ่าออกไม่ทำให้เกิดผลดีแต่อย่างใด มีแต่จะทำให้เกิดผลเสียคือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา และการผ่าฟันคุดก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือเจ็บปวดจนเกินจะทนเหมือนอย่างที่ใครๆ คิด เพราะเมื่อต้องแลกกับการเจ็บเพียงแค่ครั้งเดียว แต่สามารถรักษาเหงือกและฟันของเราให้มีสุขภาพดีไปอีกยาวนาน การรักษาฟันคุดตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมคุ้มกว่าแน่นอน
การรักษาฟันคุด
การรักษาฟันคุดทำได้โดยการผ่าตัดฟันคุดออก ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้ยาชาเฉพาะที่ ยกเว้นฟันเขี้ยวบน ทันตแพทย์อาจพิจารณาจัดฟันร่วมด้วย เพื่อดึงฟันเขี้ยวให้อยู่ในตำแหน่งที่ปกติ เพื่อเรียงฟันให้มีความสวยงามเป็นระเบียบ เมื่อมีฟันคุดเกิดขึ้น ทันตแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจช่องปาก และเอ็กซ์เรย์ (X-ray) ฟัน เพื่อดูลักษณะของฟันคุด อธิบายถึงรายละเอียดและขั้นตอนในการรักษาเพื่อความสบายใจของคนไข้ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัด
โดยทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก ในบางกรณีทันตแพทย์อาจให้ทานยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวดกันไว้ก่อน เมื่อทดสอบว่ายาชาออกฤทธิ์แล้ว จึงทำการเปิดเหงือกเพื่อให้มองเห็นฟันคุด ถ้าฟันคุดขึ้นในลักษณะแนวตั้ง ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมืองัดหรือถอนออกมา แต่ถ้าฟันคุดขึ้นในลักษณะแนวเอียงหรือแนวนอน ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือกรอตัดฟันให้เป็นชิ้นๆ แล้วคีบออกมา ระหว่างทำอาจมีความรู้สึกตึง กด งัด แน่นที่ฟัน และจังหวะที่ฟันหลุดออกมานั้นบางคนอาจรู้สึกเจ็บหรือเสียวแปล๊บๆ ที่ฟันได้ หากฟันซี่นั้นมีการอักเสบมาก่อน แต่ถ้ามีความรู้สึกเจ็บระหว่างทำก็สามารถยกมือบอกทันตแพทย์ได้ หลังจากนำฟันออกไปแล้ว ก็ล้างทำความสะอาด และเย็บปิดแผล คนไข้สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล การผ่าตัดใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
ภายหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการติดเชื้อหลังผ่าตัด หากฟันคุดอยู่ลึก ต้องใช้เวลาในการทำนาน หรือคนไข้ไม่ดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าตัด, เลือดออกมาก เช่น ฟันคุดอยู่ใกล้เส้นเลือดมาก หรือไหมที่เย็บไว้หลุด เป็นต้น หากเป็นดังนี้ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที, ริมฝีปากชาหลังผ่าตัด เนื่องจากฟันคุดอยู่ใกล้เส้นประสาทหรือรากของฟันคุดเกี่ยวอยู่กับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟัน รวมทั้งผ่าแล้วหน้าบวม อ้าปากไม่ได้ อาการแพ้ยา อาจเป็นยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบ ลดบวม ควรหยุดยาและรีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที โดยอาการทุกอย่างจะค่อยๆ เริ่มดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 3 ถึง 7 วัน โดยหลังการผ่าตัดหรือถอนฟันคุด มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1. ทันตแพทย์จะแนะนำให้กัดผ้ากอซให้แน่นเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดหรือถอนฟันเป็นอย่างต่ำ
2. หากเลือดไม่หยุดไหล ควรประคบแก้มด้วยน้ำแข็งในบริเวณที่ทำการผ่าตัดหรือถอนฟัน
3. วันแรกห้ามใช้น้ำหรือน้ำยาใดๆ บ้วนปาก วันที่สองสามารถใช้น้ำยาบ้วนปากหรือน้ำเกลืออุ่นๆ ได้ โดยบ้วนเบาๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร
4. แปรงฟันทำความสะอาดช่องปากตามปกติ แต่ระมัดระวังอย่าให้โดนแผลบริเวณที่ผ่าตัดหรือถอนฟัน
5. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
6. ห้ามใช้นิ้วหรือไม้จิ้มฟันกดหรือแคะแผล ห้ามดูดแผลเล่น
7. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารรสจัด
8. หากมีอาการบวมผิดปกติควรกลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว
9. หลังจากผ่าตัด 7 วัน แพทย์จะทำการนัดเพื่อตัดไหมเย็บแผล
การผ่าฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเป็นการใช้ยาชา แต่หลังผ่าอาจมีอาการปวดบ้าง ทันตแพทย์จึงให้ทานยาเพื่อระงับปวด และใช้เวลาเพียงไม่นานอาการก็จะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติ หากคุณพบว่ามีฟันคุด ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา ก่อนที่ฟันซี่นั้นจะอักเสบจนทำให้เกิดอาการปวด เพราะส่วนใหญ่แล้วคนมักจะคิดว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย ไม่ปวด ไม่เจ็บ แต่นั่นคืออาการยังไม่เริ่มต้นต่างหากล่ะคะ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมายดังที่กล่าวไว้ตอนต้น และถ้าใครที่อยากรู้ว่ามีฟันคุดหรือไม่ สามารถไปพบทันตแพทย์เพื่อเอ็กซ์เรย์ฟันดูได้เมื่อถึงอายุที่สมควรแล้วค่ะ
Leave a reply